โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: ครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy)การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นภาวะที่ไข่ที่ถูกผสมเกาะตัวอยู่นอกโพรงมดลูก ที่พบบ่อยคือ ที่ท่อรังไข่ แล้วเกิดการแตกทำให้ตกเลือดในช่องท้อง
พบได้ประมาณ 1 ใน 200 ของหญิงตั้งครรภ์ พบมากในหญิงอายุ 35-44 ปี
สาเหตุ
เกิดจากไข่ที่ถูกผสมถูกขัดขวางไม่ให้เดินทางไปฝังตัวในโพรงมดลูก ซึ่งเกิดจากสาเหตุและปัจจัยได้หลายอย่าง อาทิ
ท่อรังไข่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ปีกมดลูกอักเสบ การผ่าตัดท่อรังไข่ การทำหมันหญิง ท่อรังไข่ผิดปกติมาแต่กำเนิด
มดลูกมีความผิดปกติโดยกำเนิด หรือเป็นเนื้องอกมดลูก
ท่อรังไข่เคลื่อนตัวช้า ทำให้ไข่ฝังตัวอยู่ที่ท่อรังไข่ ซึ่งอาจเกิดจากการสูบบุหรี่ การใช้ยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิด
เคยมีประวัติตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน
มีประวัติมีบุตรยากนานเกิน 2 ปี หรือการแก้ไขภาวะมีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น วิธีการทำกิฟต์ (GIFT), การทำเด็กหลอดแก้ว (In vitro fertilization & embryo transfer/IVF-ET)
อาการ
ผู้ป่วยมักมีประวัติขาดประจำเดือน 1-2 เดือน หรือไม่ก็สังเกตว่าประจำเดือนมาผิดไปจากทุกครั้ง เช่น มากะปริดกะปรอยไม่มาก สีน้ำตาลคล้ำ แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีอาการปวดเสียดในท้องน้อยขึ้นทันทีทันใด ปวดรุนแรงเป็นชั่วโมง อาจร้าวไปที่หลัง ถ้านอนศีรษะต่ำอาจมีอาการปวดเสียวที่หัวไหล่
ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการเป็นลม เหงื่อออก ตัวเย็น
ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจมีเพียงอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ร่วมกับประจำเดือนกะปริดกะปรอย
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้ปีกมดลูกอักเสบ ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือเป็นหมัน
ที่สำคัญคือ เกิดการตกเลือดในช่องท้องจนช็อกถึงตายได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ
ซีด กระสับกระส่าย ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ อาจกดเจ็บหรือคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อย
ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจตรวจไม่พบอาการชัดเจน ทำให้คิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ ถุงน้ำรังไข่ (ovarian cyst) หรือแท้งบุตรได้
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจภายในช่องคลอด เจาะเลือดตรวจดูระดับฮอร์โมนเอชซีจี (human chorionic gonadotropin/HCG) อาจต้องตรวจอัลตราซาวนด์ หรือใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (laparoscopy)
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้เลือดในรายที่เสียเลือดมากและทำการผ่าตัดด่วน
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น หญิงที่มีอาการขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนผิดปกติ มีอาการปวดเสียดในท้องน้อยขึ้นทันทีทันใด ปวดท้องรุนแรงเป็นชั่วโมง หรือ มีอาการปวดท้องร่วมกับมีอาการหน้าตาซีดเซียว หน้ามืด เป็นลม เหงื่อออก ตัวเย็น ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นครรภ์นอกมดลูก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
หลังจากกลับมาพักฟื้นที่บ้าน มีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ซีด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
การป้องกันค่อนข้างเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง อาทิ
ป้องกันไม่ให้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (โดยการใช้ถุงยางอนามัยในกรณีที่มีความเสี่ยง) เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นปีกมดลูกอักเสบ
หากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือปีกมดลูกอักเสบควรรักษาให้หายขาด
งดสูบบุหรี่ก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์
ข้อแนะนำ
1. ถ้าพบผู้หญิงที่มีอาการเป็นลมหรือปวดท้อง ควรถามประวัติเกี่ยวกับประจำเดือนทุกราย (แม้ว่าจะไม่ได้มีประวัติการแต่งงานอย่างเป็นทางการก็ตาม) ถ้ามีอาการประจำเดือนขาดหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย อาจมีสาเหตุจากการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
2. การรักษาโรคนี้มีวิธีเดียว คือ การผ่าตัด หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์ที่ปกติได้ ถึงแม้อาจมีโอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลงก็ตาม