หัวใจขาดเลือด (Heart Attack) หรือหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือภาวะที่หัวใจขาดเลือดและออกซิเจนที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจถูกปิดกั้นจากคราบพลัค (Plaque) จนทำให้กล้ามเนื้อที่หัวใจเสื่อมสภาพและตายลง
โดยโรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีลักษณะ ST Segment (ST Segment Elevation Myocardial Infarction - STEMI) เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน จนทำให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแบบรุนแรงได้
2. ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดไม่พบ ST Segment Elevation (Non-ST Segment Elevation Myocardial Infarction - NSTEMI) เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจแบบเฉียบพลัน ซึ่งหากมีอาการติดต่อกันนานกว่า 30 นาที จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ แต่ถ้าอาการไม่รุนแรง อาจเกิดเพียงภาวะเจ็บหน้าอกชนิดไม่คงที่ (Unstable Angina) เท่านั้น
อาการหัวใจขาดเลือด
อาการที่มักพบได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้แก่
1. รู้สึกแน่นและเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยจะมีอาการแน่น รู้สึกเหมือนหัวใจถูกบีบ หรือมีแรงดันจำนวนมากที่บริเวณกลางอกหรือที่อกข้างซ้าย โดยอาการอาจจะเกิดขึ้นไม่กี่นาทีแล้วก็หาย แต่จากนั้นก็อาจจะกลับมาเป็นอีก นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจรู้สึกเหมือนแสบร้อนกลางอก หรืออาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย อาการเจ็บหน้าอกมักจะเกิดขึ้นรุนแรง บางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายกับอาหารไม่ย่อย ขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกใด ๆ ได้เช่นกัน
2. รู้สึกอึดอัดที่หน้าอกหรือลิ้นปี่ นอกจากรู้สึกแน่นที่หน้าอกแล้ว ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าอาการแน่นแล่นไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายท่อนบนด้านซ้าย ได้แก่ บริเวณกราม คอ หลังหน้าท้อง และแขน แต่บางรายก็อาจมีอาการจุกเสียดแน่นทั้ง 2 ซีกของร่างกายส่วนบนได้
3. หายใจถี่ ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจสั้นที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกของตนเอง หรืออาจเกิดขึ้นขณะที่รู้สึกเจ็บและแน่นหน้าอก โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นจากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งมีสาเหตุเนื่องจากอาการแน่นหน้าอกและหายใจได้ลำบาก ดังนี้
วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
เหงื่อออกขณะที่ร่างกายเย็น
รู้สึกวิตกกังวลมากผิดปกติ
ไอ หรือหายใจมีเสียง
มีอาการเหนื่อยมากผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ
ความหมาย โรคหัวใจขาดเลือด อ่านบบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/