ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: แผลแอฟทัส (Apthous ulcers)  (อ่าน 60 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 617
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: แผลแอฟทัส (Apthous ulcers)
« เมื่อ: วันที่ 31 ตุลาคม 2024, 15:33:44 น. »
หมอออนไลน์: แผลแอฟทัส (Apthous ulcers)

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย พบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มักเป็น ๆ หาย ๆ เป็นประจำโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากสร้างความรำคาญ เมื่ออายุมากขึ้นจะเป็นห่างออกไปเรื่อย ๆ บางรายอาจหายขาดเมื่ออายุมาก

*มีชื่อเรียกอื่น เช่น canker sore, ulcerative stomatitis, recurrent aphthous stomatitis ชาวบ้านมักเรียกว่า แผลร้อนใน

สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน และอาจมีความสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำ การแพ้สารบางอย่าง การเกิดปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองหรือออโตอิมมูน)

พบว่าร้อยละ 40 ของผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบบ่อย จะมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว สันนิษฐานว่าส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ อีกส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน (เช่น อาหาร สิ่งกระตุ้นให้โรคกำเริบ)

ผู้ป่วยที่เกิดแผลแอฟทัส อาจพบว่ามีสิ่งกระตุ้นให้อาการกำเริบ อาทิ

    ความเครียด เช่น ขณะคร่ำเคร่งกับงาน หรืออ่านหนังสือสอบ อดนอน
    การได้รับบาดเจ็บในช่องปาก เช่น เยื่อบุปากหรือลิ้นถูกกัดหรือถูกแปรงสีฟัน ฟันปลอม หรืออาหารแข็ง ๆ กระทบกระแทก
    การมีประจำเดือน
    การใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่เจือปนสารลดแรงตึงผิว (มีคุณสมบัติในการทำความสะอาดและเกิดฟอง) เช่น sodium lauryl sulfate,  sodium lauroyl sarcosinate
    การแพ้อาหาร เช่น แป้งข้าวสาลี ไข่ นมวัว เนยแข็ง กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต อาหารที่มีรสเค็ม รสเผ็ด ของเปรี้ยวหรือผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด (เช่น ส้ม ส้มโอ สับปะรด สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ เป็นต้น)
    การแพ้แบคทีเรียบางชนิดที่มีอยู่ในช่องปาก
    การใช้ยา เช่น แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยารักษาโรคกระดูกพรุน-อะเลนโดรเนต (alendronate)
    ภาวะขาดธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก หรือวิตามินบี 12
    ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
    การป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease/IBD)*
    การเลิกบุหรี่ อาจกระตุ้นให้เกิดแผลแอฟทัสในบางรายที่เลิกบุหรี่ใหม่ ๆ

*โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease/IBD) ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

โรคนี้พบว่ามีการอักเสบของเยื่อบุลำไส้ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองหรือออโตอิมมูน (autoimmune) ถ้ามีการอักเสบจำกัดอยู่เฉพาะในลำไส้ใหญ่ เรียกว่า "โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (ulcerative colitis)" ถ้ามีการอักเสบที่จุดใดจุดหนึ่งหรือหลายจุดของทางเดินอาหารตลอดแนวตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก เรียกว่า "โรคโครห์น (Crohn’s disease)"

ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว เป็น ๆ หาย ๆ อย่างเรื้อรัง ด้วยอาการปวดท้อง ท้องเดิน อุจจาระมีเลือดหรือมูกปน และอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด (เนื่องจากมีแผลที่ลำไส้ ทำให้มีเลือดออก) ซีด (จากการเสียเลือด) มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย

อาการ

อาการที่สำคัญคือ มีแผลเจ็บในช่องปาก ซึ่งอาจพบที่ริมฝีปาก (ด้านใน) กระพุ้งแก้ม ลิ้น (ด้านข้าง/ด้านใต้) เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย ทอนซิล หรือพื้นปาก (เนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ลิ้นและเหงือก) ส่วนใหญ่จะมีเพียงแผลเดียว บางรายอาจมีหลายแผลเกิดขึ้นพร้อมกัน

ในรายที่มีแผลที่บริเวณผนังคอหอย/ทอนซิล จะมีอาการเจ็บคอเพียงจุดเดียวหรือข้างเดียว (ซึ่งผู้ป่วยสามารถระบุตำแหน่งได้) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะรู้สึกเจ็บมากเวลากลืนหรือพูด ทำให้กลืนหรือพูดลำบาก และอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หูข้างเดียวกันเวลากลืน

อาการเจ็บแผลมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งค่อย ๆ เจ็บมากขึ้นทุกวันในช่วง 3-4 วันแรก หลังจากนั้นจะทุเลาลงไปเอง

บางรายอาจพบว่ามีอาการเกิดขึ้นเวลามีสิ่งกระตุ้น (เช่น ความเครียด การอดนอน การมีประจำเดือน การเผลอกัดถูกริมฝีปาก/กระพุ้งแก้ม/ลิ้น หรือถูกแปรงสีฟันกระแทก การใช้ยาสีฟันหรือยาบางชนิด การกินอาหารหรือผลไม้บางชนิด เป็นต้น) หรืออาจอยู่ดี ๆ ก็กำเริบขึ้นโดยไม่ทราบว่ามีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นก็ได้

บางรายอาจมีความรู้สึกแสบร้อน หรือเสียวซ่าในปาก 1-2 วันก่อนมีแผลเกิดขึ้น

ในช่วงที่มีอาการเจ็บแผล จะรู้สึกปวดหรือเจ็บแสบเวลากินอาหารแข็ง ๆ หรืออาหารรสเค็ม เผ็ดหรือเปรี้ยวจัด ถ้าเป็นแผลขนาดใหญ่ อาจเจ็บมากจนกินอาหาร ดื่มน้ำ และพูดได้ลำบาก

หลังมีอาการกำเริบได้ 3-4 วัน อาการจะค่อย ๆ ทุเลาลงและมักจะหายเป็นปกติได้เองใน 1-2 สัปดาห์ เมื่อเว้นไปสักระยะหนึ่ง อาจนานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ หรือมากกว่านั้น ก็อาจจะมีอาการกำเริบอีก และมักจะเป็น ๆ หาย ๆ แบบนี้อยู่เรื่อยไป   

บางรายที่เป็นแผลแอฟทัสชนิดรุนแรง อาจมีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณข้างคอหรือใต้คางบวม ซึ่งเป็นอาการที่พบได้น้อยมาก

ภาวะแทรกซ้อน

ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายอะไร นอกจากสร้างความเจ็บปวด กินและพูดลำบากชั่วคราว

สำหรับผู้ที่มีแผลแอฟทัสขนาดใหญ่ อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยมาก

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

สิ่งตรวจพบที่สำคัญ คือ แผลในปาก ซึ่งมีหลายลักษณะ* ส่วนใหญ่เป็นแผลแอฟทัสเล็ก

ส่วนน้อยเป็นแผลแอฟทัสใหญ่ หรือแผลแอฟทัสชนิดคล้ายเริม

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจตรวจพบไข้ ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณข้างคอหรือใต้คางบวม หรือแผลติดเชื้อแบคทีเรีย

*แผลแอฟทัสมีอยู่ 3 ชนิดได้แก่

1.  แผลแอฟทัสเล็ก (minor aphthous ulcers) ซึ่งพบได้มากกว่าร้อยละ 80 จะเป็นแผลตื้นลักษณะรูปไข่ ขนาด 3-5 มม. (ไม่เกิน 1 ซม.) มีวงสีแดงอยู่โดยรอบ ขอบแผลอาจบวมเล็กน้อย พื้นแผลมีสีขาวหรือเหลือง และกลายเป็นสีเทาเมื่อใกล้หาย มักพบที่บริเวณริมฝีปาก (ด้านใน) กระพุ้งแก้ม ลิ้น (ด้านข้างและด้านใต้) เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย ทอนซิล หรือพื้นปาก (เนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ลิ้นและเหงือก) มักไม่พบที่เหงือก เพดานแข็ง และลิ้น (ด้านบน) อาจเป็นเพียงแผลเดียว หรือหลายแผล (2-5 แผล) พร้อมกัน มีอาการเจ็บปวดไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่เป็นแผลเป็น อาจกำเริบได้ทุก 1-4 เดือน

2. แผลแอฟทัสใหญ่ (major aphthous ulcers) พบได้ประมาณร้อยละ 10-15 มีลักษณะคล้ายกับแผลแอฟทัสเล็ก แต่แผลมีลักษณะลึกกว่า มีขนาดมากกว่า 1 ซม.ขึ้นไป ขอบแผลบวม และมีอาการเจ็บปวดรุนแรงกว่า (มักจะรู้สึกเจ็บมากเวลากินอาหารหรือดื่มน้ำ ถ้าขึ้นที่เพดานอ่อน จะรู้สึกเจ็บมากเวลากลืน) แผลมีลักษณะรูปวงกลม อาจขึ้นเพียงแผลเดียว หรือเป็น 2 แผลคู่กัน นอกจากพบในตำแหน่งเดียวกับแผลแอฟทัสเล็กแล้ว ยังอาจพบที่เพดานแข็งและลิ้น (ด้านบน) ได้อีกด้วย แผลมักหายช้า (ใช้เวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์) และเป็นแผลเป็น อาจกำเริบได้บ่อยมาก บางครั้งอาจพบในผู้ป่วยเอดส์

3. แผลแอฟทัสชนิดคล้ายเริม (herpetiform ulceration) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเริม พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 จะพบในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่ากลุ่มคนที่เป็นแผลแอฟทัส 2 ชนิดข้างต้น พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แรกเริ่มจะขึ้นเป็นตุ่มใสเล็ก (1-2 มม.) นับเป็น 10-100 ตุ่ม แล้วแตกแผ่รวมเป็นแผลเดียวขนาดใหญ่ (คล้ายแผลแอฟทัสใหญ่) ขอบแผลไม่เรียบ มีอาการเจ็บปวดค่อนข้างรุนแรง พบในตำแหน่งต่าง ๆ แบบเดียวกับแผลแอฟทัสใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ข้างลิ้นหรือใต้ลิ้นมักพบได้บ่อย แผลหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่เป็นแผลเป็น

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้

1. แนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย ในการดูแลตนเอง และการป้องกันไม่ให้แผลกำเริบบ่อย ในรายที่มีอาการปวดมากให้ยาบรรเทาปวด เช่น พาราเซตามอล และแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งต่อไปนี้ ป้ายแผลวันละ 2-4 ครั้ง จนกว่าจะทุเลา

    ครีมสตีรอยด์ชนิดป้ายปาก เช่น ครีมป้ายปากไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ (บรรเทาปวดและช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น)
    ยาชา เช่น เจลลิโดเคน (lidocaine) ชนิด 2% (บรรเทาปวด)

2. ในรายที่ให้ดูแลรักษาข้างต้นไม่ได้ผล มีอาการรุนแรง แผลไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ เป็น ๆ หาย ๆ บ่อย หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย (เช่น ซีดหรือโลหิตจาง ปวดท้องบ่อย ท้องเดินเรื้อรัง มีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลดฮวบ) แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหาร ตรวจชิ้นเนื้อ (โดยตัดเนื้อเยื่อจากแผลไปส่งตรวจ) เป็นต้น ให้การรักษาตามสาเหตุและความรุนแรง เช่น ให้ยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน, ให้ยาบำรุงโลหิตในรายที่มีโลหิตจางจากภาวะขาดเหล็ก, ให้กรดโฟลิกหรือวิตามินบี 12 หรือสังกะสีในรายที่ขาด, รักษาโรคที่ตรวจพบ (เช่น เอดส์ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง) เป็นต้น

หากไม่มีภาวะผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย และให้การรักษาดังข้อที่ 1 ไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาให้ยาสตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) กินระยะสั้น ๆ เพื่อลดการอักเสบ ยานี้แพทย์จะใช้เท่าที่จำเป็น เนื่องเพราะใช้พร่ำเพรื่อหรือนาน ๆ มีผลข้างเคียงมากและอาจเกิดอันตรายได้

ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องใช้ยา (นอกจากยาบรรเทาปวดในรายที่ปวดมาก) แต่มักจะมีอาการกำเริบได้บ่อย โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ

ส่วนน้อยที่อาจมีความรุนแรง (ซึ่งการให้ยาบรรเทาอาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล) หรือมีโรค/ภาวะผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นต้องให้การรักษาควบคู่ไปด้วย

การดูแลตนเอง

1. ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย หรือเคยรักษาแผลแอฟทัสมาก่อน และมีความมั่นใจในการดูแลตนเอง ควรปฏิบัติ ดังนี้

    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    หลีกเลี่ยงอาหารที่ระคายแผล เช่น อาหารเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด อาหารแข็ง
    กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำ 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง
    ถ้าปวดให้อมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ดื่มน้ำเย็น
    ถ้าปวดมากให้กินพาราเซตามอล* และ/หรือใช้ยาป้ายแผลในปากตามที่แพทย์แนะนำ

ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีไข้สูง อ่อนล้า ซีด หรือน้ำหนักลดร่วมด้วย หรือมีอาการปวดท้องและท้องเดิน เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง
    ปวดแผลรุนแรง กินยาบรรเทาปวดไม่ได้ผล
    กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำ
    แผลมีขนาดใหญ่ หรือขึ้นพร้อมกันหลายแผล
    มีอาการเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
    มีประวัติการแพ้ยา สตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือมีโรคตับ โรคไต หรือประจำตัวอื่น ๆ ที่มีการใช้ยา หรือแพทย์นัดติดตามการรักษาอยู่เป็นประจำ
    หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    ดูแลตนเอง 3-4 วันแล้วอาการปวดไม่ทุเลา
    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

2. ถ้าสงสัยว่ามีอาการรุนแรง หรือไม่มั่นใจที่ดูแลตนเองตั้งแต่แรกควรไปพบแพทย์ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นแผลแอฟทัส ควรดูแลตนเองดังนี้

    กินยาตามและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด
    ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
    - กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำ
    - ใช้ยาที่แพทย์แนะนำ 3-4 วันแล้วอาการปวดไม่ทุเลา หรือกลับมีอาการปวดมากขึ้น หรือมีไข้ขึ้น
    - มีอาการที่สงสัยว่าแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ

การป้องกัน

ผู้ที่เคยเป็นแผลแอฟทัส ควรป้องกันไม่ให้แผลกำเริบบ่อยโดยปฏิบัติตัว ดังนี้

1. หมั่นออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียด

2. กินอาหารให้ครบทุกหมู่ (ได้สารอาหาร วิตามิน และเกลือแร่ครบถ้วน) และกินผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มาก ๆ

3. หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้หรือกระตุ้นให้เกิดแผลแอฟทัส

4. ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้สะอาด โดยการแปรงฟันหลังกินอาหารทุกครั้ง และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง อย่าให้มีเศษอาหาร (ที่อาจกระตุ้นให้แผลกำเริบ) ค้างคา ควรใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กและขนนุ่มเพื่อไม่ให้ปากถูกกระทบกระแทก

ควรไปตรวจช่องปากและฟันกับทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูแลรักษาฟันให้ดี (เช่น การแก้ไขฟันที่มีความแหลมคม การดูแลฟันปลอม) ไม่ให้เกิดการกระทบต่อช่องปากให้เกิดแผลแอฟทัส

5. ไม่ใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่เจือปนสาร sodium lauryl sulfate หรือ sodium lauroyl sarcosinate

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ

2. ควรแยกแผลแอฟทัสออกจากเริมในช่องปากชนิดกำเริบซ้ำ ซึ่งมักจะขึ้นเป็นแผลเดียวที่เหงือกหรือเพดานแข็ง และอาจมีไข้ร่วมด้วย ทั้ง 2 โรคนี้สามารถให้การรักษาตามอาการก็หายได้เอง อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่แน่ใจควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมสตีรอยด์ที่ใช้ป้ายแผลแอฟทัสในปาก เพราะถ้าเป็นเริมอาจทำให้โรคลุกลามได้

3. ในผู้หญิง แผลแอฟทัสมักกำเริบเวลามีประจำเดือน (ซึ่งอาจป้องกันได้ด้วยการกินยาเม็ดคุมกำเนิด) และขณะตั้งครรภ์มักจะไม่มีอาการกำเริบจนกว่าจะคลอด

4. ผู้ป่วยแผลแอฟทัสส่วนใหญ่มักมีอาการเพียงเล็กน้อย และหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถดูแลตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ก็ควรเฝ้าสังเกตตัวเอง หากมีอาการผิดสังเกต รู้สึกมีอาการที่รุนแรง หรือรักษาตัวเองแล้วไม่ทุเลา ก็ควรไปพบแพทย์

5. ในรายที่เป็นแผลแอฟทัสใหญ่ (มากกว่า 1 ซม.) หรือเป็นรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรตรวจหาสาเหตุ บางรายอาจพบร่วมกับโรคเอดส์ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) ในรายที่เป็นแผลนานเกิน 3 สัปดาห์ อาจเป็นอาการแสดงของมะเร็งช่องปากระยะแรกก็ได้

6. ผู้ที่เป็นแผลแอฟทัสบ่อย บางรายอาจมีโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune diseases) เกิดขึ้นในเวลาต่อมาได้ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง เอสแอลอี คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลดฮวบ ไข้เรื้อรัง ปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้าเรื้อรัง ปวดหลังเรื้อรัง เป็นต้น ก็ควรไปพบแพทย์